Wednesday, January 25, 2012

Earworm: เสียงเพลงที่วนเวียนอยู่ในหัว

เช้าวันหนึ่ง ระหว่างที่คุณกำลังนั่งกินอาหารเช้า คุณได้ยินเสียงเพลงที่กำลังฮิตจากวิทยุ เพราะดี.. คุณเริ่มฮัมเพลงนี้ในใจ

คุณ ขับรถออกมาทำงาน ระหว่างที่ติดไฟแดง คุณพบว่า ท่อนฮุกของเพลงสุดฮิต ยังคงถูกเล่นในหัว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า.. มันคงจะฮิตจริง ๆ.. ระหว่างกินข้าวกลางวันคุณพบว่า.. คุณหยุดคิดถึงเพลงนี้ไม่ได้ (!!) คุณใช้เวลาตลอดบ่ายเอาหัวโขกข้างฝา และสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ฟังเพลงนั้นอีกตลอดชีวิต

จากการวิจัย พบว่า 98% ของคนทั่วไปเคยมีประสบการณ์เสียงเพลงที่เล่นวนเวียนอยู่ในหัว ที่รู้จักกันในชื่อ earworm (แปลตรงตัวว่า หนอนรูหู) กันมาแล้วทั้งนั้น earworm นี้พบบ่อยในผู้หญิง และนักดนตรี และสร้างความรำคาญให้กับผู้หญิงมากกว่า แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ชัดเจนว่า earworm มันมีประโยชน์กับเรายังไง แต่ก็มีทฤษฎี และการทดลองที่อธิบายปรากฏการณ์นี้จาก ความพยายามเติมเต็มช่องว่างของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฟัง (auditory cortex) เช่นเดียวกับ เวลาที่เราสามารถนึกทำนองเพลงที่คุ้นหู ต่อเนื่องได้แม้ว่าเสียงเพลงจริงๆ จะหยุดไปแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกเพลงที่จะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์ earworm ได้เสมอไป คุณสมบัติของเพลงที่มีแนวโน้มจะเป็น earworm คือ

  • จำง่ายมาก และง่ายต่อการร้องตาม
  • เป็นทำนองซ้ำๆ (repetitive) เป็นที่สังเกตว่า earworm มักเป็นท่อนฮุกที่เล่นซ้ำไปซ้ำมา เราก็มักจะจำได้แค่ท่อนฮุกนั่นแหละ และสมองจะพยายามหาทางออกจากท่อนฮุกนั้นให้ได้ แต่'ติดหล่ม'หาทางออกจากท่อนฮุกที่ว่า ไม่เจอ (!) (อ่านวิธีแก้ในย่อหน้าถัดไป)
  • มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะ หรือทำนอง ที่กระตุกชวนให้สมองติดตาม เติมเต็มช่องว่าง และ 'ติดหล่ม' ในที่สุด

มีความพยายามมากมายในการหาวิธีแก้ earworm ที่ได้ผลชะงัด วิธีที่ง่ายและใช้กันบ่อยได้แก่
  1. ฟังเพลง และร้องเพลงนั้นให้จบทั้งเพลง เพื่อเป็นการปลดล็อกสมองจากสภาวะติดหล่มท่อนฮุก
  2. เอาไปติดคนอื่น - earworm สามารถติดต่อได้ คงไม่ต้องบอกว่า ทำยังไงให้คนข้างๆ ฮัมเพลงเดียวกับคุณ แน่นอนว่า earworm อาจจะไม่หายไป แต่คุณจะรู้สึกดีขึ้น (หรือแอบสะใจ) ที่ได้แบ่งมันให้กับคนอื่น
  3. ร้องเพลงอื่นแทน (eraser tune) ถ้าคุณกำจัด earworm ได้สำเร็จด้วยวิธีนี้ ยินดีด้วย คุณได้ยัดหนอนตัวใหม่เข้าไปในหูแทนเป็นที่เรียบร้อย
(วิธีการกำจัด earworm แบบพิสดารอื่น ๆ ตั้งแต่ สวดมนต์ เล่น sudoku และปีนหอไอเฟล ดูได้จาก link ที่มาด้านล่าง)

อย่าง ที่พิมพ์ไปตอนต้นว่า แม้เราจะไม่รู้ว่า earworm มีประโยชน์กับเรายังไง แต่ก็มีการนำความรู้เกี่ยวกับ earworm ไปใช้ในการผลิตสื่อ และโฆษณา เพื่อสร้างเพลงโฆษณาที่ติดหู และเพลงฮิตติดชาร์ต รวมทั้งกลยุทธการโปรโมทที่ทำให้สมองเรา 'ตกหล่ม' ที่เราเจอในชีวิตประจำวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับคนที่สงสัยว่า ใครเป็นคนบัญญัติคำว่า earworm ช่างตรงใจอะไรเช่นนี้ ที่จริงแล้ว คำว่า earworm มาจากคำว่า "Ohrwurm" ในภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า ความ'คัน'ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งมีชีวิตในนิทานปรัมปราเล่มไหนทั้งสิ้น

via

Monday, January 23, 2012

เมื่อการลดขนาดของก้อนมะเร็ง อาจไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป


  • ยารักษามะเร็งบางตัว มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเส้นเลือด (anti-angiogenesis) ที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง โดยมีเป้าหมายทำให้ก้อนมะเร็งขาดเลือด และขนาดเล็กลง
  •  บางครั้ง การขาดเลือด อาจกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเกิดพฤติกรรม'เอาชีวิตรอด' โดยการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (metastasis) มากขึ้น ลงท้ายด้วยก้อนมะเร็งที่เล็กลง แต่อาการคนไข้แย่ลง (จากการทดลองในหนู) ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การใช้ยารักษามะเร็งชนิดที่ไม่ตรงกับชนิดของเซลล์ที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ (off-label use) อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีก็เป็นได้
via Cancer Cell via gizmodo

Saturday, January 14, 2012

อีก 1 เหตุ ของความล้มเหลวในการลดน้ำหนัก

  • 1 ในหน้าที่ของสมองส่วน hypothalamus คือควบคุมความรู้สึกหิว ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต hypothalamus จึงเป็นตัวที่ช่วยบอกว่า น้ำหนักตัวที่เหมาะสม ควรเป็นเท่าไหร่
  • จากการทดลอง หนู และอาสาสมัครที่มีน้ำหนักเกิน พบการเปลี่ยนแปลงของ hypothalamus ซึ่งคาดกันว่า ทำให้มีการกำหนด'น้ำหนักตัวที่เหมาะสม'มากเกินกว่าปกติ
  • การที่น้ำหนักตัวที่เหมาะสมถูกสั่งโดยสมองนี้ อาจเป็นเหตุผลของ yoyo effect เพราะสมองจะสั่งให้ทำน้ำหนักกลับมาเท่าเดิมในที่สุด.. แม้ว่าเราจะยังควบคุมอาหารอยู่ก็ตาม (!!!)
  • ตอนนี้ ยังบอกไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของ hypothalamus ที่ถูกพบนี้ สามารถกลับคืนเป็นปกติได้หรือไม่ แต่เราเริ่มจะรู้แล้วว่า การคุมอาหารเพียงอย่างเดียว เพื่อลดน้ำหนัก คงจะไม่พอเสียแล้ว

via HealthLand

Monday, January 09, 2012

30 มิถุนายน 2555 นี้ เราจะมีเวลาเพิ่มขึ้น 1 วินาที

  • ปัจจุบันการอ้างอิงเวลามาตรฐาน ใช้นาฬิกาอะตอม (Atomic clock) ที่ถือว่ามีความเที่ยงตรงมากที่สุด - International Atomic Time (TAI)
  • วงโคจรที่โลกหมุนรอบตัวเอง และอิงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ (solar time) ไม่ได้สม่ำเสมอทุกรอบ จากแรงฉุดของดวงจันทร์ ทำให้บางวันสั้น บางวันยาว (นิดนึง)
  • ถ้าปล่อยไว้ เวลาของ นาฬิกาอะตอม กับเวลาที่อิงตามวงโคจรของโลก จะห่างออกจากกันเรื่อย ๆ
  • การใส่ 1 วินาที เข้าไป (leap second) ในเวลาอ้างอิงมาตรฐาน: Coordinated Universal Time (UTC) จะทำให้เวลาทั้งสองอันยังเดินไปด้วยกันได้เหมือนเดิม (มักใส่เข้าไปตอนกลางปี หรือสิ้นปี)
  • ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 มีการใส่เวลาเข้าออก UTC แบบนี้มาแล้ว จนปัจจุบัน UTC อยู่ห่างจาก TAI 34 วินาที และ 30 มิถุนายน 2555 นี้ จะมีการใส่เวลาเข้าไปอีก 1 วินาที
  • 1 วินาที ดูเหมือนไม่สำคัญอะไร แต่สำหรับเทคโนโลยีที่ต้องการความแม่นยำในระดับ real time เช่น หอบังคับการบิน นักดาราศาสตร์ และ internet server มีความสำคัญมาก และน่าปวดหัว เพราะต้อง synchronize อุปกรณ์ทุกชิ้นให้ทำงานได้ตรงกัน
  • ในวงการการสื่อสาร จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้หยุดใส่เวลาเพิ่มเข้าไปใน UTC แบบนี้เสียที ซึ่งถ้าทำจริง 40 ปีข้างหน้า เวลาจะเหลื่อมมากขึ้นอีก 30 วินาที ในระยะยาวกว่านั้น เวลาเที่ยง (12.00) อาจเป็นตอนเช้ามืด
  • ในระดับบุคคล สำหรับบางคน 1 วินาที อาจมีความสำคัญ ถ้ามีความต้องการสบตาใครบางคนนานขึ้นอีกนิดหนึ่ง

via: Wired, Scientific American