ช่วงนี้เจอกับเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ่อยจนผิดปกติ บางเรื่องก็เพิ่งรู้ว่ามันก็เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของ burnout ได้ด้วย (เป็นเองโดยไม่รู้สึกตัว!)
เรื่อง Burnout นี่ แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็ยังไม่รู้จักเรื่องนี้ดีเท่าไหร่ ตำราแพทย์ (อาจจะยกเว้นตำราจิตแพทย์) แทบจะไม่เคยเขียนถึงเลยด้วยซ้ำ ที่จะมีกล่าวถึงแล้วผมไปอ่านเจอก็คงเป็น Tintinalli's Emergency Medicine พูดถึงปลายทางของ burnout ใน Chapter 294 เรื่อง Physician's Well-being ว่า หมอที่เกิดอาการจะลงเอยด้วยการดูแลผู้ป่วยที่แย่ลง ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานลดลง เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ บางครั้งเกิดการแสดงออกทางกาย (somatoform disorder) และพฤติกรรม นำไปสู่การใช้ยา ติดเหล้า และโรคซึมเศร้า
ที่จริงแล้วอาการ burnout เกิดได้ในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ทำงานภายใต้สภาวะกดดัน ร่วมกับความต้องการพิสูจน์ตัวเองในหน้าที่การงาน ที่สำคัญคือ มันจะเกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวไม่ทันสังเกต นอกจากนี้ ยังไม่จำเป็นว่าคน 2 คนที่ทำงานภายใต้สถานการณ์เดียวกัน จะต้องเกิด burnout แบบเดียวกัน หรือพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการกับจิตใจตัวเองด้วย
วารสาร Scientific American Mind เดือนกรกฎาคม 2006 ได้กล่าวถึง Burnout cycle ของ Herbert Freudenberger ไว้ว่ามี 12 ระยะด้วยกัน โดยอาจจะมีการข้าม step หรือเกิดพร้อมกันก็ได้ แต่จะรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้ (คำแปลไม่ค่อยตรงเท่าไหร่ :P)
1. ความต้องการพิสูจน์ตัวเอง (Compulsion to prove oneself) จุดเริ่มตันของหายนะที่จะตามมา นำไปสู่ระยะที่ 2
2. พยายามทำงานหนักขึ้น (Working Harder) คาดหวังสูง พยายามจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง นำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่มีใครสามารถทำแทนได้ ("irreplacability")
3. ละเลยความสุขส่วนตัว (Neglecting their needs) ทุ่มเททุกอย่างให้งาน ลดเวลานอน สละเวลากิน เลิกพบปะเพื่อนฝูง ลดความสำคัญของครอบครัว
4. ความรู้สึกขัดแย้ง แปลกแยก (Displacement of conflicts) เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวไม่ถูกต้อง ไม่สามารถบ่งบอกที่มาได้ คนรอบข้างจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะนี้
5. เปลี่ยนทิศทางการประเมินตัวเอง (Revision of values) การแยกตัว ทุ่มเทกับงาน ไม่มีเวลาสำหรับเรื่องอื่น ทำให้การประเมินค่าของตัวเอง ขึ้นอยู่กับงานที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น เกิดอารมณ์เฉยเมย (emotionally blunted)
6. ไม่ยอมรับปัญหา (Denial of emerging problems) ความอดทนที่ลดต่ำลง มองเพื่อนร่วมงานในแง่ร้าย รู้สึกว่าถูกกินแรง เกิดความไม่ไว้ใจ นำไปสู่การแสดงออกที่ก้าวร้าว และมองว่าสาเหตุของปัญหาเป็นเรื่องของปริมาณงานที่แบกรับเอาไว้ และเวลาทำงานที่ไม่เคยพอ
7. เลิกติดต่อกับผู้คน (Withdrawal) ปิดกั้นตัวเอง ความรู้สึกหมดหวัง หมดหนทางเริ่มแทรกซึมเข้ามา มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เริ่มใช้ตัวช่วยอย่าง ยา หรือเหล้า
8. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง (Obvious behavioral changes) คนรอบข้างสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในขณะที่ความรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าเพิ่มพูนขึ้น
9. จิตหลุด (Depersonalization) มองไม่เห็นความต้องการของตัวเอง มองไม่เห็นทางออก มีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เป็นหุ่นยนต์
10. ชีวิตนี้ช่างว่างเปล่า (Inner Emptiness) แต่ความรู้สึกไม่อยากหายใจทิ้ง นำไปสู่การ "หาอะไรทำ" เที่ยวกลางคืน กินเหล้า เมายา อย่างหนัก
11. ซึมเศร้า (Depression) อาการของโรคซึมเศร้าปรากฏ หงอย หมดหวัง หมดแรง ชีวิตหมดความหมาย
12. หมดไฟ (Burnout syndrome) ถ้ามาถึงตรงนี้แล้ว คนที่หาทางออกไม่ได้ บ้างก็แสดงออกทางกาย (somatoform disorder) บ้างก็ทำให้เกิดอาการทางจิต (mental collapse)
อ่านดูแล้ว มีหลายอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้สึกตัวได้เอาง่าย ๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถูกอาการ burnout นี้บ่อนทำลายชีวิตส่วนตัว และคนรอบข้างไปหลายแล้ว
ขอให้ท่านที่ผ่านมาอ่านข้อความเหล่านี้ รักษาตัวให้รอดพ้นจากอาการหมดไฟนี้ครับ
Note 1: แหล่งอื่นที่ผมอ่านเจอข้อมูลเกี่ยวกับ burnout กะเขาด้วย ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนี้ คือ หนังสือ The Art of Community ของ @jonobacon (download ไปอ่านกันได้ฟรีครับ ที่ http://www.artofcommunityonline.org/)
Note 2: คำแปล "burnout" อันแรกที่นึกถึงคือ "เผามันให้วอด" หึ หึ
Note 3: ช่างบังเอิญ หนังสือออกใหม่ที่ไปเห็นมา สด ๆ ร้อน ๆ "Something for the Pain: Compassion and Burnout in ER" (เข้ากับชีวิตน่าดู) เก็บไว้ในโครงการหามาอ่านในโอกาสต่อไป
Note 4: หาหนังสือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ของท่านพุทธทาส มาอ่านคู่ด้วย น่าจะได้ความต่อเนื่องเป็นอย่างมาก
Tuesday, November 03, 2009
Subscribe to:
Posts (Atom)