ภาพจาก flickr โดย droetker0912 |
ในปัจจุบัน มีการเสนอทฤษฎีว่า ความทรงจำระยะยาวของคนเรา อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ภาค คือ เหตุการณ์ (เสียง ภาพต่าง ๆ) กับ อารมณ์ความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น โดยเหตุการณ์ที่จำได้จะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกตามมา ต่อเนื่องกันในลักษณะของห่วงโซ่ (chain of memories) ซึ่งตัวอย่าง ปัญหาความทรงจำระยะยาวที่ย้อนกลับมาทำร้ายเจ้าของ คือ ภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์เลวร้าย (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)
ความเชื่อเรื่องความแม่นยำของความทรงจำ เริ่มถูกท้าทาย ในช่วงทศวรรษ 1980s ว่า ที่จริงแล้วความทรงจำของคนเรานั้นถูกเก็บอย่างเปราะบางมากกว่าที่คิด เมื่อมีการค้นพบโปรตีนที่มีชื่อว่า PKMZeta ที่จุดเชื่อมต่อ (synapses) ของเซลล์ประสาทในสมอง ทำให้เซลล์ประสาทสามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นเวลานาน ๆ ซึ่งกลไกการเชื่อมต่อนี้ จำเป็นต้องได้รับการย้ำ (reconsolidation) เป็นประจำ ทุกครั้งที่เรานึกถึง ความทรงจำนั้น จะถูกปรุงขึ้นใหม่ และเขียนทับลงไปใหม่ แต่ด้วยส่วนผสมที่อาจต่างไปจากเดิม หรือมิฉะนั้นความทรงจำนั้นก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป
เมื่อไปทดลองในหนู ที่ถูกสร้างเงื่อนไขให้กลัวการถูกไฟฟ้าช็อตหลังได้ยินเสียงที่กำหนด พบว่า การโจมตีการสร้าง PKMZeta ในขณะที่หนูได้ยินเสียง (ที่จะตามมาด้ายการถูกช็อต) ทำให้หนูเลิกแสดงอาการกลัวในเงื่อนไขเดิม (ยับยั้งกลไก reconsolidation , ทำลายห่วงโซ่ของความจำ) ในขณะที่เงื่อนไขอื่น และความทรงจำอื่นยังอยู่ครบถ้วนเหมือนเดิม
ด้วยแนวคิดนี้จึงได้มีการ นำมาประยุกต์ใช้ลดผลกระทบด้านอารมณ์จากความทรงจำที่เลวร้ายในคนไข้ PTSD ด้วยการ'เขียนซ้ำ'ความทรงจำด้านอารมณ์ใหม่ โดยการให้คนไข้รื้อฟื้นความทรงจำอันเลวร้ายนั้น ในขณะที่ได้รับยาที่ส่งผลต่ออารมณ์ อย่าง propranolol (ลดความดันโลหิต ลดการเต้นของหัวใจ ลดความตื่นเต้น) หรือกระทั่งการใช้ยา ecstasy หรือที่รู้จักในชื่อ ยาอี (!!) ซึ่งทำให้ การรื้อฟื้นความทรงจำในครั้งต่อ ๆ มา แม้ว่าคนไข้จะยังจำเหตุการณ์ได้ แต่ก็ส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ลดลงกว่าเดิม หรือเทคนิค การทิ้งช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ระยะหนึ่ง ซึ่งผลกระทบทางด้านอารมณ์ของผู้ประสบเหตุการณ์นั้นลดลงแล้ว จึงให้ผู้ประสบเหตุระบายอย่างละเอียดออกมา (critical incident stress debriefing: CISD) ทำให้เกิดการ'เขียนทับ'ความทรงจำใหม่ที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกลดลง
เรื่องนี้ทำให้รู้ว่า ความทรงจำที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง ที่จริงแล้วถูกเก็บไว้อย่างเปราะบาง และแม้ว่ายาเม็ดที่กินแล้ว ทำให้ลืมเรื่องเลวร้ายได้ คงยังไม่มาถึงในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เราก็ได้รู้ว่ามีสิ่งที่เป็นไปได้ในประโยคที่ ฮัน โซโล พูดถึงการจากไปของ ชิวแบ็กก้า:
"เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนวิธีจดจำมันได้"(ดัดแปลงจากประโยคต้นฉบับ: "How do you change the past?" "Simple. By changing the way you remember it.")
ที่มา:
- WIRED: The Forgetting Pill Erases Painful Memories Forever
- Star Wars New Jedi Order: Hero's Trial
- สุดท้าย ขออนุญาตแนะนำหนังสือ The Invisible Gorilla ที่เล่าเรื่องความหลงผิดด้านความทรงจำ Illusion of Memory และด้านอื่น ๆ สำหรับผู้สนใจความหลงผิดของคนเราในชีวิตประจำวันครับ