Sunday, April 06, 2008

QWERTY vs Dvorak keyboard layout


เคยสงสัยกันบ้างไหมครับ ว่า Keyboard layout ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มีที่มาอย่างไร? ทำไมถึงต้องมีการเรียงตัวอักษรบนแป้น keyboard แบบนี้ด้วย?

ที่จริงแล้ว keyboard layout ภาษาอังกฤษ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ QWERTY นั่นถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษที่ 1860s โดยนักประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า Christopher Scholes ผู้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีด (typewriter) ขึ้นเป็นคนแรก โดยในการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก ๆ นั้น แป้นพิมพ์ถูกเรียงตามลำดับของตัวอักษร ระบบการทำงานของเครื่องพิมพ์ดีดยุคแรกนั้น เมื่อผู้ใช้ทำการกดแป้นพิมพ์เครื่องก็จะดีดแท่นโลหะเข้าไปกระทบกับกระดาษเกิดเป็นตัวอักษรขึ้นมา การเรียงแป้นพิมพ์แบบนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาในกรณีที่คนพิมพ์ กดแป้นพิมพ์ตัวอักษรที่อยู่ใกล้กันในช่วงเวลาที่ติด ๆ กัน แถบโลหะของแป้นพิมพ์ที่ถูกกดก่อน ยังไม่กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมก็จะไปขัดกับแถบโลหะของแป้นพิมพ์ใหม่ที่ถูกกด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ใช้ต้องหยุดพิมพ์เพื่อเอาแถบโลหะที่ขัดกันอยู่กันออกด้วยตัวเอง

คุณ Christopher Scholes และทีม จึงได้ทำการออกแบบแป้นพิมพ์รุ่นใหม่ขึ้นมา โดยอิงอยูบนพื้นฐานที่ว่าเอาแป้นที่มีโอกาสจะถูกพิมพ์ในช่วงใกล้ ๆ กันให้ออกไปห่างจากกัน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการพันกันของแท่นโลหะในระหว่างการพิมพ์ โดยอาศัยความรู้สึกของผู้ออกแบบเป็นหลัก ไม่รู้จะเรียกว่าโชคร้ายได้หรือเปล่า ที่วิธีการเลือกว่าแป้นพิมพ์อันไหนควรจะอยู่ทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของคนพิมพ์นั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นฐานของการออกแบบ QWERTY keyboard layout นี้เลยครับ ส่วนทำไมแป้นพิมพ์แถวบนสุดถึงต้องเป็น QWERTYUIOP น่ะหรือครับ? ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวพิมพ์แถวบนแถวเดียว สามารถพิมพ์เป็นคำว่า 'typewriter' ได้นั่นเอง! ส่วนตัวพิมพ์ในแถวกลางหรือคีย์เหย้า (home key: ASDFGHJKL) ทั้งหลาย ก็เกิดจากส่วนที่เหลือของการหยิบตัวอักษรไปใส่ไว้ในแถวแรกครับ

keyboard layout แบบ QWERTY จึงถือกำเนิดขึ้นในที่สุด ซึ่งสิทธิบัตรของ QWERTY keyboard layout นี้ก็ถูกซื้อไปโดย Remington บริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีด ยักษ์ใหญ่ (บริษัทเดียวกับที่ผลิตปืนขายนั่นล่ะครับ)

ดังนั้นเราพอจะสรุปได้ว่า QWERTY keyboard layout แท้ที่จริงแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากการตอบสนองแต่ปัญหาทางด้านกลไลของเครื่องพิมพ์ดีดในยุคแรกนั่นเอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผมเล่าให้ฟังนี้เราคงไม่ค่อยพบเห็นกันแล้วในปัจจุบันครับ เนื่องจากแป้นพิมพ์ที่เราใช้กันอยู่เป็นแป้นพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่มีระบบการทำงานของแป้นโลหะเหลืออีกต่อไปแล้ว

ทีนี้เรามาว่าในรายละเอียดของเจ้า QWERTY layout นี้ว่ามันยังออกแบบได้ไม่สมบูรณ์อย่างไร

เนื่องจากคนที่ออกแบบ QWERTY นี้ใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงการใช้มือสองข้างในการพิมพ์มากนัก ทำให้เราไม่สามารถใช้วิธีการพิมพ์สัมผัสแบบใช้ 2 มือได้อย่างเต็มที่ เพราะกลายเป็นว่าคำในภาษาอังกฤษ นับพัน ๆ คำจะถูกพิมพ์โดยใช้มือซ้ายเพียงข้างเดียว ในขณะที่มีเพียงไม่กี่ร้อยคำเท่านั้น ที่จะถูกพิมพ์ด้วยมือขวาเพียงข้างเดียว ทำให้ผู้ใช้ที่ถนัดขวา จะต้องใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการพิมพ์คำเหล่านี้ ยังไม่นับรวมถึง คำที่ใช้สองมือพิมพ์ แต่ตัวอักษรที่ประกอบติดกันอยู่ภายในคำนั้น ๆ ถูกพิมพ์โดยมือข้างใดข้างหนึ่งติดกันหลาย ๆ ตัว (เช่นคำว่า team เป็น ซ้าย ซ้าย ซ้าย ขวา) ส่งผลให้ความเร็วในการพิมพ์นั้นลดลง

ทีนี้ ความเร็วที่ว่าลดลงนั้น ลดลงแค่ไหน? ทดลองดูง่าย ๆ โดยใช้นิ้วชี้ของมือใดมือหนึ่งของคุณเคาะลงบนโต๊ะให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วลองเทียบกับ การใช้นิ้วชี้ของมือทั้งสองข้างเคาะสลับกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ดูสิครับ

ปัญหาการพิมพ์นี้ถูกค้นพบในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1930 โดยนักจิตวิทยาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชื่อ Dr. August Dvorak ที่ทำการศึกษาภาวะเมื่อยล้าของผู้ที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเวลานาน ๆ หลังจากที่เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า (ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการพันกันของแท่นโลหะอีกต่อไป) เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น

Dr. Dvorak จึงมีความคิดที่จะพัฒนา keyboard layout แบบใหม่ โดยมีหลักการเพื่อให้สามารถใช้ มือสองข้างสลับกันพิมพ์ตัวอักษรให้ได้มากที่สุด ใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย ตัวอักษรที่พิมพ์บ่อย อยู่ใกล้แป้นเหย้ามากที่สุด ใช้ประโยชน์จากนิ้วที่แข็งแรงกว่าให้มากกว่า รวมไปถึงลักษณะการพิมพ์ที่เร็วกว่าโดยการใช้การกดแป้นไล่เรียงมาจาก ด้านนอกเข้าสู่ด้านใน (inboard stroke flow) ซึ่งในที่สุดจากการศึกษาทางด้านคำศัพท์และการพิมพ์มาอย่างโชกโชน Dvorak keyboard layout ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1932

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่แม้ว่าจะมีหลักฐาน เหตุผลของการพัฒนา keyboard layout แบบใหม่นี้ขึ้นมาสนับสนุน แต่ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนั้น ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า การใช้ Dvorak layout นี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการพิมพ์ได้มากขึ้นจริง ๆ ประกอบกับสไตล์การพิมพ์สัมผัสของ QWERTY layout นี้ก็มีกลุ่มผู้ใช้อยู่อย่างหนาแน่น โรงเรียนสอนการพิมพ์ดีดทั้งหลาย ก็เปิดสอนเทคนิคการพิมพ์สัมผัสบน QWERTY keyboard อย่างแพร่หลาย บริษัทผู้ผลิตก็ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้ QWERTY layout ออกมาจนติดตลาดไปทุกหนทุกแห่ง ท่ามกลางกระแสของ demand-supply ที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ที่ Dvorak keyboard นี้จะแจ้งเกิดเป็นไปได้อย่างจำกัด และก็ไม่สามารถทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายได้ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และพื้นฐานของการใช้งาน QWERTY layout ก็ส่งอิทธิพลไปถึงการใช้งานคีย์บอร์ดบนคอมพิวเตอร์ด้วย ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ keyboard shortcut สำหรับฟังก์ชัน Edit ที่ใช้กัน นั่นก็คือ Cut (Ctrl-x), Copy (Ctrl-C) และ Paste (Ctrl-v) ซึ่งทั้งสามแป้นนี้อยู่ติดกันบน QWERTY แต่อยู่ห่างจากกันใน Dvorak

อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับ Dvorak keyboard layout นี้ และไม่ลังเลที่จะนำมันมาใช้งาน ทำให้ในปัจจุบัน Dvorak layout ยังคงอยู่ในกลุ่มผู้ใช้เล็ก ๆ จำนวนหนึ่ง ณ วันนี้ ข้อสงสัยเรื่องของประสิทธิภาพถูกพิสูจน์ในที่สุด เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย จึงได้มีการนำเอาประสิทธิภาพของ keyboard layout ทั้งสองอันนี้มาเปรียบเทียบกัน โดยจำลองสถานการณ์การพิมพ์ดีด และวัดผลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เปรียบเทียบการใช้มือซ้ายเทียบกับมือขวา จำนวนตัวอักษรที่ติดกันที่ถูกพิมพ์ด้วยมือข้างเดียวกัน การกระโดดขึ้นกระโดดลงของนิ้วมือ ระยะทางที่นิ้วมือต้องเคลื่อนที่ออกจากคีย์เหย้า ซึ่งก็พบว่า Dvorak keyboard มีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบตามกติกานี้ครับ

สำหรับผู้ที่สนใจเปลี่ยนมาใช้ Dvorak keyboard สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
DvZine.org มีสื่ออธิบายความเป็นมา รวมทั้งแบบฝึกหัดการพิมพ์ Dvorak
Wikipedia: Dvorak Simplified Keyboard

วิธีการเปลี่ยน keyboard layout บน OS ต่าง ๆ

เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ layout ต่าง ๆ
QWERTY layout VS Dvorak layout
โดยใช้บทประพันธ์ของเช็คสเปียร์
http://www.siteuri.ro/dvorak/SampleTextsResults/Shakespeare.html

ที่มา

1 comment:

bact' said...

Dvorak นี่เทียบกับของไทย ก็คือ ปัตตโชติ

ผังแป้นพิมพ์ของไทยมีสามแบบ คือ
* เกษมณี เป็นแบบดั้งเดิม
* ปัตตโชติ เป็นแบบที่กระจายความถี่การพิมพ์ออกไปตามนิ้วต่าง ๆ
* มอก.820 สำหรับแป้มคอมพิวเตอร์ ที่ดัดแปลงมาจากเกษมณี