เคยสงสัยกันบ้างไหมครับ ว่า Keyboard layout ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้มีที่มาอย่างไร? ทำไมถึงต้องมีการเรียงตัวอักษรบนแป้น keyboard แบบนี้ด้วย?
ที่จริงแล้ว keyboard layout ภาษาอังกฤษ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อ QWERTY นั่นถือกำเนิดขึ้นในทศวรรษที่ 1860s โดยนักประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า Christopher Scholes ผู้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีด (typewriter) ขึ้นเป็นคนแรก โดยในการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก ๆ นั้น แป้นพิมพ์ถูกเรียงตามลำดับของตัวอักษร ระบบการทำงานของเครื่องพิมพ์ดีดยุคแรกนั้น เมื่อผู้ใช้ทำการกดแป้นพิมพ์เครื่องก็จะดีดแท่นโลหะเข้าไปกระทบกับกระดาษเกิดเป็นตัวอักษรขึ้นมา การเรียงแป้นพิมพ์แบบนี้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาในกรณีที่คนพิมพ์ กดแป้นพิมพ์ตัวอักษรที่อยู่ใกล้กันในช่วงเวลาที่ติด ๆ กัน แถบโลหะของแป้นพิมพ์ที่ถูกกดก่อน ยังไม่กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมก็จะไปขัดกับแถบโลหะของแป้นพิมพ์ใหม่ที่ถูกกด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ใช้ต้องหยุดพิมพ์เพื่อเอาแถบโลหะที่ขัดกันอยู่กันออกด้วยตัวเอง
คุณ Christopher Scholes และทีม จึงได้ทำการออกแบบแป้นพิมพ์รุ่นใหม่ขึ้นมา โดยอิงอยูบนพื้นฐานที่ว่าเอาแป้นที่มีโอกาสจะถูกพิมพ์ในช่วงใกล้ ๆ กันให้ออกไปห่างจากกัน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดการพันกันของแท่นโลหะในระหว่างการพิมพ์ โดยอาศัยความรู้สึกของผู้ออกแบบเป็นหลัก ไม่รู้จะเรียกว่าโชคร้ายได้หรือเปล่า ที่วิธีการเลือกว่าแป้นพิมพ์อันไหนควรจะอยู่ทางด้านซ้ายหรือด้านขวาของคนพิมพ์นั้น ไม่ได้อยู่ในพื้นฐานของการออกแบบ QWERTY keyboard layout นี้เลยครับ ส่วนทำไมแป้นพิมพ์แถวบนสุดถึงต้องเป็น QWERTYUIOP น่ะหรือครับ? ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวพิมพ์แถวบนแถวเดียว สามารถพิมพ์เป็นคำว่า 'typewriter' ได้นั่นเอง! ส่วนตัวพิมพ์ในแถวกลางหรือคีย์เหย้า (home key: ASDFGHJKL) ทั้งหลาย ก็เกิดจากส่วนที่เหลือของการหยิบตัวอักษรไปใส่ไว้ในแถวแรกครับ
keyboard layout แบบ QWERTY จึงถือกำเนิดขึ้นในที่สุด ซึ่งสิทธิบัตรของ QWERTY keyboard layout นี้ก็ถูกซื้อไปโดย Remington บริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีด ยักษ์ใหญ่ (บริษัทเดียวกับที่ผลิตปืนขายนั่นล่ะครับ)
ดังนั้นเราพอจะสรุปได้ว่า QWERTY keyboard layout แท้ที่จริงแล้ว มีต้นกำเนิดมาจากการตอบสนองแต่ปัญหาทางด้านกลไลของเครื่องพิมพ์ดีดในยุคแรกนั่นเอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผมเล่าให้ฟังนี้เราคงไม่ค่อยพบเห็นกันแล้วในปัจจุบันครับ เนื่องจากแป้นพิมพ์ที่เราใช้กันอยู่เป็นแป้นพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่มีระบบการทำงานของแป้นโลหะเหลืออีกต่อไปแล้ว
ทีนี้เรามาว่าในรายละเอียดของเจ้า QWERTY layout นี้ว่ามันยังออกแบบได้ไม่สมบูรณ์อย่างไร
เนื่องจากคนที่ออกแบบ QWERTY นี้ใช้ความรู้สึกของตัวเองเป็นหลัก และไม่ได้คำนึงถึงการใช้มือสองข้างในการพิมพ์มากนัก ทำให้เราไม่สามารถใช้วิธีการพิมพ์สัมผัสแบบใช้ 2 มือได้อย่างเต็มที่ เพราะกลายเป็นว่าคำในภาษาอังกฤษ นับพัน ๆ คำจะถูกพิมพ์โดยใช้มือซ้ายเพียงข้างเดียว ในขณะที่มีเพียงไม่กี่ร้อยคำเท่านั้น ที่จะถูกพิมพ์ด้วยมือขวาเพียงข้างเดียว ทำให้ผู้ใช้ที่ถนัดขวา จะต้องใช้มือข้างที่ไม่ถนัดในการพิมพ์คำเหล่านี้ ยังไม่นับรวมถึง คำที่ใช้สองมือพิมพ์ แต่ตัวอักษรที่ประกอบติดกันอยู่ภายในคำนั้น ๆ ถูกพิมพ์โดยมือข้างใดข้างหนึ่งติดกันหลาย ๆ ตัว (เช่นคำว่า team เป็น ซ้าย ซ้าย ซ้าย ขวา) ส่งผลให้ความเร็วในการพิมพ์นั้นลดลง
ทีนี้ ความเร็วที่ว่าลดลงนั้น ลดลงแค่ไหน? ทดลองดูง่าย ๆ โดยใช้นิ้วชี้ของมือใดมือหนึ่งของคุณเคาะลงบนโต๊ะให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วลองเทียบกับ การใช้นิ้วชี้ของมือทั้งสองข้างเคาะสลับกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ดูสิครับ
ปัญหาการพิมพ์นี้ถูกค้นพบในเวลาต่อมา ในปี ค.ศ. 1930 โดยนักจิตวิทยาการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชื่อ Dr. August Dvorak ที่ทำการศึกษาภาวะเมื่อยล้าของผู้ที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดเป็นเวลานาน ๆ หลังจากที่เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า (ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องการพันกันของแท่นโลหะอีกต่อไป) เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น
Dr. Dvorak จึงมีความคิดที่จะพัฒนา keyboard layout แบบใหม่ โดยมีหลักการเพื่อให้สามารถใช้ มือสองข้างสลับกันพิมพ์ตัวอักษรให้ได้มากที่สุด ใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย ตัวอักษรที่พิมพ์บ่อย อยู่ใกล้แป้นเหย้ามากที่สุด ใช้ประโยชน์จากนิ้วที่แข็งแรงกว่าให้มากกว่า รวมไปถึงลักษณะการพิมพ์ที่เร็วกว่าโดยการใช้การกดแป้นไล่เรียงมาจาก ด้านนอกเข้าสู่ด้านใน (inboard stroke flow) ซึ่งในที่สุดจากการศึกษาทางด้านคำศัพท์และการพิมพ์มาอย่างโชกโชน Dvorak keyboard layout ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1932
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่แม้ว่าจะมีหลักฐาน เหตุผลของการพัฒนา keyboard layout แบบใหม่นี้ขึ้นมาสนับสนุน แต่ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนั้น ก็ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า การใช้ Dvorak layout นี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการพิมพ์ได้มากขึ้นจริง ๆ ประกอบกับสไตล์การพิมพ์สัมผัสของ QWERTY layout นี้ก็มีกลุ่มผู้ใช้อยู่อย่างหนาแน่น โรงเรียนสอนการพิมพ์ดีดทั้งหลาย ก็เปิดสอนเทคนิคการพิมพ์สัมผัสบน QWERTY keyboard อย่างแพร่หลาย บริษัทผู้ผลิตก็ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้ QWERTY layout ออกมาจนติดตลาดไปทุกหนทุกแห่ง ท่ามกลางกระแสของ demand-supply ที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ที่ Dvorak keyboard นี้จะแจ้งเกิดเป็นไปได้อย่างจำกัด และก็ไม่สามารถทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายได้ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และพื้นฐานของการใช้งาน QWERTY layout ก็ส่งอิทธิพลไปถึงการใช้งานคีย์บอร์ดบนคอมพิวเตอร์ด้วย ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ keyboard shortcut สำหรับฟังก์ชัน Edit ที่ใช้กัน นั่นก็คือ Cut (Ctrl-x), Copy (Ctrl-C) และ Paste (Ctrl-v) ซึ่งทั้งสามแป้นนี้อยู่ติดกันบน QWERTY แต่อยู่ห่างจากกันใน Dvorak
อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับ Dvorak keyboard layout นี้ และไม่ลังเลที่จะนำมันมาใช้งาน ทำให้ในปัจจุบัน Dvorak layout ยังคงอยู่ในกลุ่มผู้ใช้เล็ก ๆ จำนวนหนึ่ง ณ วันนี้ ข้อสงสัยเรื่องของประสิทธิภาพถูกพิสูจน์ในที่สุด เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย จึงได้มีการนำเอาประสิทธิภาพของ keyboard layout ทั้งสองอันนี้มาเปรียบเทียบกัน โดยจำลองสถานการณ์การพิมพ์ดีด และวัดผลในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เปรียบเทียบการใช้มือซ้ายเทียบกับมือขวา จำนวนตัวอักษรที่ติดกันที่ถูกพิมพ์ด้วยมือข้างเดียวกัน การกระโดดขึ้นกระโดดลงของนิ้วมือ ระยะทางที่นิ้วมือต้องเคลื่อนที่ออกจากคีย์เหย้า ซึ่งก็พบว่า Dvorak keyboard มีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบตามกติกานี้ครับ
สำหรับผู้ที่สนใจเปลี่ยนมาใช้ Dvorak keyboard สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
DvZine.org มีสื่ออธิบายความเป็นมา รวมทั้งแบบฝึกหัดการพิมพ์ Dvorak
Wikipedia: Dvorak Simplified Keyboardวิธีการเปลี่ยน keyboard layout บน OS ต่าง ๆ
เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ layout ต่าง ๆ
QWERTY layout VS Dvorak layoutโดยใช้บทประพันธ์ของเช็คสเปียร์
http://www.siteuri.ro/dvorak/SampleTextsResults/Shakespeare.htmlที่มา