Tuesday, March 29, 2011

Lobotomy: โนเบลทางการแพทย์ที่ถูกลืม แต่ ฮอลลีวูดจำได้

ณ หอผู้ป่วยทางจิต คนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคจิตเภท ที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และหมดทางเยียวยาด้วยการรักษาทางอื่น จะลงเอยด้วยการถูกนำไปทำการผ่าตัดเอาเนื้อสมองออกบางส่วน ที่เรียกว่า "Lobotomy" เพื่อหวังว่าจะลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงได้ R.P. McMurphy เป็นคนไข้ใหม่ของที่นี่ เขาเป็นตัวป่วนที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา เขากำลังจะถูกพิพากษาด้วยการทำ Lobotomy .. (-- One Flew Over the Cuckoo's Nest นำแสดงโดย Jack Nicholson จากบทประพันธ์ของ Ken Kesey)

Teddy Daniel เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้รับการมอบหมายให้มาสอบสวนคดีคนไข้โรคจิตที่หายตัวไปจากห้องอย่างลึกลับ ก่อนหน้าที่จะพบความจริงที่ซ่อนอยู่ ของการรักษาโรคจิตเภทที่แพทย์ลงความเห็นว่า หมดทางเยียวยา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล .. (-- Shutter Island นำแสดงโดย Leonado Di Caprio จาก บทประพันธ์ของ Dennis Lehane)

Baby Doll ถูกทารุณโดยพ่อเลี้ยง ถูกหาว่าฆาตกรรมน้องสาวของเธอเอง ถูกใส่ความว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิต ถูกส่งเข้าสถานบำบัด และลงเอยด้วยการถูกจับมัดบนเก้าอี้ หมอผ่าตัดกำลังจะใช้เหล็กแหลมยาว แบบที่ใช้สกัดน้ำแข็ง จ่อไปเหนือดวงตา ใต้เปลือกตาบนแล้วเตรียมตอกเหล็กแหลมให้ทะลุเข้าไปถึงโพรงสมอง .. (-- Sucker Punch กำกับโดย Zack Snyder)



"เหล็กสกัดน้ำแข็ง" ภาพประกอบจาก wikipedia

ปกติแล้วฮอลลีวูดจะเว่อเสมอ แต่กับ Lobotomy นี่อาจจะไม่

แนวคิด ของ Lobotomy คือการทำลายเนื้อสมองบางส่วน ซึ่งตามทฤษฎีบอกว่า อาจจะเป็นต้นเหตุของวงจรผิดปกติในสมอง ทำให้คนวิกลจริต แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะมีการใช้รักษาคนไข้โรคจิตเภทที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น (ในสมัยนั้น) ได้อีกแล้ว เทคนิคและแนวคิดถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ จนมาเฟื่องฟูในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย António Egas Moniz แพทย์ชาวโปรตุเกส ได้รับรางวัลโนเบล ในปี 1949 จากการรักษาผู้ป่วยด้วยการทำ Lobotomy หลังจากนั้น ก็มีผู้ป่วยปีละหลายพันคนที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกระโหลกทำ Lobotomy ด้วยข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ ไบโพลาร์ ภายใต้วิชาที่มีชื่อว่า การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคทางจิต (Psychosurgery)

แนวคิด และเทคนิคการทำ Lobotomy มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง Walter Freeman แพทย์ชาวอเมริกันได้ทำการคิดค้นวิธีการทำ Lobotomy แบบไม่ต้องผ่าเปิดกระโหลก แต่เปลี่ยนเป็นใช้เหล็กแหลมเจาะเข้าทางกระบอกตา ที่เรียกว่า Transorbital Lobotomy (-- ว่ากันว่าอุปกรณ์ที่ใช้ ได้ไอเดียมาจากเหล็กสกัดน้ำแข็งจริง ๆ) เพื่อเข้าไป"จัดการ"กับเนื้อสมอง ในส่วน frontal lobe ซึ่งด้วยวิธีที่ง่าย และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมนี้ ทำให้มีคนไข้อีกนับพันราย ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น

Sucker Punch ของ Martin Scorsese ไม่ได้แสดงภาพของการทำ Transorbital Lobotomy ที่โอเว่อร์เกินจริงแต่อย่างใด แต่เป็นกระบวนการจริง ๆ ที่เกิดขึ้น (วิดีโอการทำ transorbital lobotomy สด ๆ แนบอยู่ตอนท้ายของบทความนี้ คำเตือน: ถ้าหน้ามืดเป็นลมง่ายอย่าดูนะครับ)

Lobotomy ถูกลดความสำคัญลง หลังการมาของยาควบคุมอาการทางจิต ที่ให้ผลเทียบเท่า หรืออาจจะดีกว่า และคนไข้ไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด จำนวนคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยการทำ Lobotomy จึงลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป แม้ว่า ปัจจุบันยังมีการทำ Lobotomy อยู่บ้าง ในศูนย์การแพทย์บางแห่ง แต่ก็ด้วยข้อบ่งชี้ที่ถูกจำกัดลงกว่าเดิม

ปัจจุบัน คนไข้ที่ได้รับการทำ Lobotomy บางคนยังมีชีวิตอยู่ และ 1 ในนั้นคือ Howard Dully ซึ่งเข้ารับการทำ lobotomy ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ได้เขียนเล่าประสบการณ์หลัง Lobotomy เอาไว้ในหนังสือ My Lobotomy เป็นหลักฐานยืนยันว่า การทำ Lobotomy นั้นไม่ได้ทำให้หายจากอาการทางจิตได้เสมอไป แต่ก็เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ระดับรางวัลโนเบล ที่ถ้าไม่ถูกนำมาเล่าแล้ว เราคงไม่เชื่อว่ามันเคยมีอยู่จริง

วิดีโอสาธิต Lobotomy (คำเตือน: ไม่เหมาะสำหรับคนหน้ามืดง่ายครับ)

No comments: