Sunday, September 05, 2010

ว่าด้วยการซื้อ eBook (1): กำแพงภูมิศาสตร์

ในโลกยุคก่อนหน้า ebook การขายหนังสือทั่วโลก เป็นไปตามกติกาการจัดจำหน่ายหนังสือแบบเป็นเล่ม ที่มีการตัดแบ่ง "สิทธิ์ในการพิมพ์และจำหน่าย" ออกเป็นส่วน ๆ ตามภูมิภาคต่าง ๆ บนแผนที่โลก (Territorial rights) โดยสำนักพิมพ์ที่เป็นต้นน้ำจะเป็นผู้มอบสิทธิ์นี้ให้กับสำนักพิมพ์รายย่อย ทำหน้าที่พิมพ์ และขายเฉพาะในภูมิภาคนั้น


เมื่อการขายหนังสืออิเล็คทรอนิคส์ หรือ ebook โดยใช้อินเตอร์เนตเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ ebook ก็เริ่มเป็นที่นิยมโดยไม่ยาก เพราะมีข้อดีคือ คนอ่านสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว จ่ายเงินซื้อแล้วอ่านได้ทันที โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกไปไหน ไม่มีอุปสรรคทางด้านภูมิศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง คนอ่านสามารถเริ่มอ่านได้พร้อม ๆ กับคนในประเทศที่มีการเปิดตัวหนังสือ (นึกภาพคนต่อคิวหน้าร้านหนังสือ เพื่อซื้อ Harry Potter เล่มล่าสุดในวันแรกของการจำหน่าย) ขอให้มีแค่อินเตอร์เนตที่ใช้งานได้ ก็สามารถซื้อและดาวน์โหลดมาอ่านได้ทันที ไม่ต้องรอไปรษณีย์ส่งมาเป็นเล่ม

ความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดก็คือ

ในทางทฤษฎี: ebook ทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง ความจำเป็นของตัวแทนจำหน่ายในระดับภูมิภาคลดลง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือ ตัวแทนระดับภูมิภาคพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยการ"ห้ามขาย ebook" ในภูมิภาคที่ตนเองมีสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนอ่านที่ตั้งใจจะเป็นลูกค้า ebook จึงพบกับข้อความแจ้งว่าไม่สามารถซื้อหนังสือได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในภูมิภาคที่ผู้ขายมีสิทธิ์ขายให้ จากการเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบที่มาของคนซื้อว่ามาจากที่ไหนนั่นเอง

ศึกนี้จึงเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าของตลาดเดิม กับผู้มาใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง น่าสนใจว่าเจ้าของตลาดเดิมจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่พฤติกรรม และความต้องการของคนอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในโลกที่"แบน"ลงได้อย่างไรบ้าง

คราวหน้าจะลองเล่าถึงความเป็นไปได้ในการซื้อ ebook ของคนอ่านนอกภูมิภาคครับ

หมายเหตุ: 
  • ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Territorial rights ที่
  • ภาพจาก http://news.bbc.co.uk

No comments: