Sunday, September 12, 2010

ว่าด้วยการซื้อ eBook (2): ความพยายามซื้อ ebook กับด่านที่ต้องฝ่า

เนื่องจากสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย ebook ถูกเหมารวมไปกับหนังสือปกติ ที่ถูกแบ่งตามภูมิภาคต่าง ๆ (Territorial rights) เมื่อกฎนี้ถูกบังคับใช้ บรรดาเวบไซต์ขาย ebook ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกำแพง เพื่อป้องกันการขาย ebook ให้กับคนอ่านที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีสิทธิ์ขาย (รายละเอียดใน ว่าด้วยการซื้อ eBook (1))

ถ้าหากคนอ่านที่อยู่นอกพื้นที่ แล้วอยากจะซื้อจะต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง ลองมาสำรวจวิธีการที่ผู้ขายใช้ในการตรวจสอบกัน
  1. ที่อยู่ (shipping address / billing address)

    เมื่อมีการลงทะเบียนเข้าใช้งานเวบไซต์ หรือตอนที่กำลังจะจ่ายเงิน ผู้ใช้จะต้องมีการบันทึกที่อยู่ที่ใช้สำหรับส่งของ(ไม่ได้ใช้จริง) เอาไว้ แล้วทางคนขายจะตรวจสอบกับ Territorial rights ของหนังสือเล่มนั้น ๆ ว่าขายให้ได้หรือเปล่า
    การฝ่าด่านขั้นตอนนี้ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแค่ขอยืมที่อยู่ของใครสักคน หรือถ้าไม่รู้จักใครในอเมริกาเลย ก็ search จาก Google Maps มาใส่ก็แล้วกัน
  2. หมายเลขบัตรเครดิต

    เวบไซต์คนขายหลาย ๆ แห่งจะตรวจสอบรหัส 16 หลักของบัตรเครดิตซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าบัตรเครดิตใบนี้ถูกออกในอเมริกาหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้ซื้อ นอกจากนี้ระบบจัดการลิขสิทธิ์ (DRM) ของคนขายแต่ละแห่งที่ทำให้เราอ่าน ebook ได้เฉพาะบนเครื่อง หรือโปรแกรมที่ลงทะเบียนเท่านั้น ทำให้เพียงการ"ฝากคนอื่นซื้อให้"ไม่สามารถทำได้
    โอกาสที่เราจะได้หมายเลขบัตรเครดิตในอเมริกาคงไม่ง่าย แต่ก็มีวิธีอ้อม ๆ เท่าที่นึกออก


    • บริการออกบัตรเดบิตในอเมริกา แล้วให้เราจ่ายเงินจากบัตรเครดิตของเราเข้าไปฝากไว้ก่อน ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เราจะได้ billing address ที่อยู่ในอเมริกามาด้วย ทำให้ตัดปัญหาที่อยู่ในข้อแรกไปได้ (แต่ชั่งใจเรื่องความเสี่ยงกันเอาเอง)
    • ใช้ PayPal สะดวก และเชื่อถือได้ แต่ใช้ได้เฉพาะบางร้านเท่านั้น
    • ฝากซื้อคูปองหรือ gift card ของเวบไซต์นั้น ๆ ที่อาจได้มาจากการฝากซื้อ (บางแห่งก็ตามไปตรวจสอบวิธีการซื้อคูปองอีก เอาเข้าไป) เท่าที่เห็นเวบไซต์ชุมชนนักอ่านบางแห่ง ใช้วิธีโอนเงินทาง PayPal ไปให้คนในพื้นที่ซื้อ แล้วส่งมาให้ (ขึ้นอยู่กับระดับความไว้ใจ) ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เราจะได้เครดิตในการซื้อหนังสือจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องมีบัตรเครดิตของอเมริกา
  3. IP address
    ด่านนี้จะว่าผ่านยากที่สุดก็ได้ และในตอนนี้เวบไซต์คนขายแทบทุกแห่งมีการตรวจสอบ IP address ว่าเราอยู่ที่ไหน วิธีการฝ่าด่านจึงเป็นการให้ได้มาซึ่ง IP address ของอเมริกา และส่งมันไปปรากฏบนระบบตรวจสอบของเวบคนขาย การซื้อบริการ VPN ทางเป็นออกทางหนึ่ง แต่มันก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งทอด!
สรุปว่า การฝ่าด่าน Territorial rights นั้น คือการทำให้คนขายเชื่อว่า เรากำลังอยู่ในพื้นที่ที่เขามีสิทธิ์จะขายให้ (ผิดศีลข้อ 4 ตลอดกระบวนการ) แต่ก็ตามมาด้วยความยุ่งยากอีกหลายขั้นตอน และอาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้จุดเด่นทางด้านราคาของ ebook หายไป

จากผลกระทบของกำแพงที่สร้างโดยคนขายนี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่ง ที่อุตส่าห์ลงทุนซื้อเครื่องอ่านราคาแพง โดยหวังว่าต้นทุนของการซื้อหนังสือจะถูกลงในระยะยาว เสนอวิธีที่ง่าย และเร็วกว่า นั่นก็คือ "ลืมการซื้อไปซะ" แล้วไปหาจากแหล่งอื่นเอา (ผิดศีลข้อ 2) ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ ebook ที่ต้องการภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที แต่ด้วยวิธีนี้ทางฝั่งคนเขียนหนังสือ และสำนักพิมพ์จะกลายเป็นคนเสียประโยชน์เต็ม ๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า คนที่สามารถซื้อเครื่อง ereader มาใช้ได้ เต็มใจที่จะซื้อ ebook อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมันเป็นการสนับสนุนให้คนเขียน และสำนักพิมพ์ออกหนังสือดี ๆ ออกมาให้เราได้อ่านอีก แต่นั่นก็ตั้งอยู่บนข้อแม้ที่ว่าระบบการขาย ebook ควรเข้าถึงง่ายกว่านี้

สรุปง่าย ๆ ก็คือ คนซื้อพร้อมแล้ว แต่คนขายยังไม่พร้อม คงต้องดูการต่อไปว่าคนขายจะปรับตัวกับเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง

No comments: