Sunday, September 26, 2010

ประสบการณ์ Kindle 3rd gen

เมื่อวันก่อนได้มีโอกาสจับเจ้า Kindle 3rd gen ตัวเป็น ๆ หลังจากที่ได้ยินกิตติศัพท์มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้วครับ

หลังจากที่ผมได้มีโอกาสจับแบบเต็ม ๆ และถ่ายรูป Kindle 3rd gen ตัวนี้ ได้ไม่กี่ชั่วโมง ก็ปรากฏรีวิวฉบับเต็มที่ blognone เป็นที่เรียบร้อย entry นี้ก็เลยเป็นการจับมามองเป็นบางมุม และเปรียบเทียบกับ BeBook mini 5 ที่ผมตัดสินใจเป็นเจ้าของก่อนหน้านี้ก็แล้วกัน

Kindle 3rd gen ตัวที่ได้ทดลองนี้เป็นรุ่น WiFi + 3G (spec เต็ม ๆ จาก Amazon) ครับ

1. รูปร่าง และน้ำหนัก
หน้าจอขนาด 6 นิ้ว และคีย์บอร์ด full QWERTY ทางด้านล่าง ทำให้ตัวเครื่องมีความยาวมากขึ้น น้ำหนักเทียบได้กับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คขนาดมาตรฐาน (ตาม spec คือ 240 g) วัสดุที่ใช้ทำตัวเครื่องดูแน่นหนาสมกับที่ใช้ graphite เป็นกรอบ

ทางด้านล่างของตัวเครื่อง จากซ้ายไปขวา:
  • ปุ่มปรับเพิ่ม/ลดเสียง
  • ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 mm
  • USB 2.0
  • keyboard lock/unlock switch
ด้านล่างของหน้าจอเป็นคีย์บอร์ด QWERTY


ด้านหลังของเครื่องจะเป็นที่อยู่ของลำโพง


เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ BeBook mini 5 จะเห็นว่ามีขนาดแตกต่างกันอยู่พอสมควร เนื่องจากหน้าจอขนาด 6 นิ้ว (BeBook mini ขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว) และคีย์บอร์ด QWERTY

ในแง่ของน้ำหนัก หลังจากที่ได้ทำความคุ้นเคยกับ BeBook mini 5 (160 g) มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง พอมาถือ Kindle 3rd gen ตัวนี้ (240 g) ก็รู้สึกได้ถึงความหนักกว่าอย่างชัดเจน แต่ถ้าเทียบแล้วก็พอ ๆ กับพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดมาตรฐาน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการถือไปไหนมาไหน

2. หน้าจอ

เป็นสิ่งที่ต้องยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นอันดับต้น ๆ เลย สำหรับ Kindle 3rd gen ด้วยเหตุผลที่ทาง Amazon โฆษณานักหนาว่า หน้าจอ eInk รุ่นใหม่นี้ มันมี contrast ดีกว่าเดิมถึง 50% มันจะขนาดไหนกันเชียว

แล้วเมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา ก็พบกับความคมชัดน่าประทับใจสมคำล่ำลือจริง ๆ เสียด้วย จะชัดขนาดไหน เรียกได้ว่า จอของ BeBook ที่ว่าคมชัดดีแล้ว กลายเป็นมัวหมองไปเลยทีเดียว สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ขอเอารูปเปรียบเทียบมาให้ดูเลยก็แล้วกัน




 3. การใช้งาน 

หน้าจอเวลาที่คีย์บอร์ดถูกล็อคอยู่ จะแสดงรูปของนักเขียนคลาสสิก สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในการล็อคหน้าจอแต่ละครั้ง การปลดล็อคคีย์บอร์ดทำได้โดยการเลื่อนปุ่ม keyboard lock/unlock ทางด้านล่างของเครื่อง

การ navigate ตัวเลือก เมนูต่าง ๆ และการพลิกหน้าหนังสือ สามารถทำได้โดยปุ่ม 5-way navigation button และปุ่มที่อยู่ด้านข้างของเครื่อง การตอบสนองบนหน้าจอยังมีหน่วงอยู่บ้างตามประสา e-Ink

การค้นหาข้อความ หรือการเปิดดิกชันนารี ทำได้สะดวกมากจาก QWERTY keyboard แต่ยังติดอยู่ที่การพิมพ์ภาษาไทย ที่ยังไม่รองรับครับ

สำหรับภาษาไทย สามารถอ่านภาษาไทยในไฟล์ PDF ได้ราบรื่นดี แต่สำหรับ format อื่น จะต้องทำการ hack เพื่อลงฟอนต์ภาษาไทยเพื่อให้สามารถอ่านไทยได้

ประสบการณ์ในการอ่านตามปกติแบบที่เนื้อหาเป็นข้อความอย่างเดียวนั้น จะไม่รู้สึกแตกต่างกับ BeBook มากนัก แต่จุดที่แตกต่างออกไปสำหรับ Kindle ตัวนี้ก็คือ การอ่านไฟล์ pdf ในโหมดขยาย (zoom) นั้น จะยังคง page layout ของเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วน การ scroll เพื่ออ่านข้อความจึงต้องทำทั้งในแนวราบ (ซ้ายขวา) และแนวตั้ง ซึ่งแตกต่างจาก Adobe PDF ใน BeBook ซึ่งจะทำการ reflow ข้อความให้ ทำให้เสีย page layout ไป การคง page layout เอาไว้นี้ มีข้อดีก็คือ สามารถอ่านแผนภูมิ รูปภาพขนาดใหญ่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่งง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเลื่อนหน้าจอในแนวราบ ดีหรือไม่ดี จึงขึ้นอยู่กับแนวทางการใช้งานของแต่ละคนครับ
PDF page layout แบบเต็มหน้าจอ
PDF zoom 150%


4. Web browser

แม้ว่าจะยังเป็น experimental feature แต่จากการทดลองใช้งานก็พบว่า สามารถแสดงผลเวบต่าง ๆ ได้ราบรื่นดี เข้าใช้ GMail ได้อย่างไม่มีปัญหา (เครื่องที่ทดสอบได้ทำการลงฟอนต์ไทยเรียบร้อยแล้ว) จะอึดอัดอยู่บ้างก็ตรงที่มันไม่ใช่ touch screen เผลอเอานิ้วจิ้มที่หน้าจออยู่หลายครั้งระหว่างเล่นเนต
และสิ่งที่ดูจะคุ้มค่ามากก็คือ การใช้เครือข่าย EDGE/3G แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทำให้ความฝันของใครหลายคนเป็นจริงชนิดที่เมินสารพัด tablet ไปได้เลยทีเดียว
ทดลองเปิดเวบ bbc.co.uk
GMail ผ่านเวบ

นอกจากนี้ QWERTY keyboard ถือเป็นส่วนเติมเต็มของความสามารถ web browsing นี้เลยทีเดียว เพราะทำให้การพิมพ์ URL, login, password สะดวกมาก

5. ความสามารถ/ข้อจำกัดอื่น ๆ

ความสามารถที่น่าสนใจ ที่ยังผมไม่ได้ลองก็คือ Text-to-speech และการเล่นไฟล์เสียง แต่เท่าที่ถามเจ้าของเครื่อง สามารถทำได้เป็นที่น่าพอใจทั้งการเล่นผ่านลำโพง และหูฟัง
ส่วนข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้หลายคนยังขัดใจก็คือ ชนิดของไฟล์ ที่สนับสนุนนั้นมีไม่มาก และขาดฟอร์แมตที่สำคัญอย่าง epub ไป ทำให้ต้องอาศัยเครื่องมือเข้ามาช่วยแปลงไฟล์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นปัญหาเชิงเทคนิคสำหรับผู้ใช้จำนวนหนึ่งได้ (ณ จุดนี้ ฟรีแวร์ Calibre ช่วยได้มาก แถมยัง cross platform อีกด้วย)

สรุป

Amazon ได้สร้างมาตรฐานของ eReader ยุคต่อไป ทั้งทางด้านคุณภาพหน้าจอที่ดีขึ้น ความสามารถที่เริ่มขยายออกไปนอกเหนือจากการอ่าน การเพิ่มความสามารถทางด้าน wireless connectivity แบบไม่จำกัด และที่สำคัญที่สุดคือ ราคา ที่ไม่ได้สูงจนเกินเอื้อมอีกต่อไป การขยับของ Amazon คราวนี้คงจะทำให้ผู้ผลิต eReader รายใหญ่เจ้าอื่น ๆ ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ในส่วนของรายเล็ก อาจจะถึงขนาดถอดใจกันเลยก็เป็นได้

หมายเหตุ:
  • ภาพประกอบถ่ายโดย Samsung Galaxy Spica ดูภาพเพิ่มเติมได้จาก web album
  • ขอขอบคุณ มิ้ว เจ้าของเครื่อง ที่เอื้อเฟื้อเครื่อง Kindle ครับ

Sunday, September 12, 2010

ว่าด้วยการซื้อ eBook (2): ความพยายามซื้อ ebook กับด่านที่ต้องฝ่า

เนื่องจากสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย ebook ถูกเหมารวมไปกับหนังสือปกติ ที่ถูกแบ่งตามภูมิภาคต่าง ๆ (Territorial rights) เมื่อกฎนี้ถูกบังคับใช้ บรรดาเวบไซต์ขาย ebook ต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องจัดตั้งกำแพง เพื่อป้องกันการขาย ebook ให้กับคนอ่านที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีสิทธิ์ขาย (รายละเอียดใน ว่าด้วยการซื้อ eBook (1))

ถ้าหากคนอ่านที่อยู่นอกพื้นที่ แล้วอยากจะซื้อจะต้องฝ่าด่านอะไรบ้าง ลองมาสำรวจวิธีการที่ผู้ขายใช้ในการตรวจสอบกัน
  1. ที่อยู่ (shipping address / billing address)

    เมื่อมีการลงทะเบียนเข้าใช้งานเวบไซต์ หรือตอนที่กำลังจะจ่ายเงิน ผู้ใช้จะต้องมีการบันทึกที่อยู่ที่ใช้สำหรับส่งของ(ไม่ได้ใช้จริง) เอาไว้ แล้วทางคนขายจะตรวจสอบกับ Territorial rights ของหนังสือเล่มนั้น ๆ ว่าขายให้ได้หรือเปล่า
    การฝ่าด่านขั้นตอนนี้ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแค่ขอยืมที่อยู่ของใครสักคน หรือถ้าไม่รู้จักใครในอเมริกาเลย ก็ search จาก Google Maps มาใส่ก็แล้วกัน
  2. หมายเลขบัตรเครดิต

    เวบไซต์คนขายหลาย ๆ แห่งจะตรวจสอบรหัส 16 หลักของบัตรเครดิตซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าบัตรเครดิตใบนี้ถูกออกในอเมริกาหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้ซื้อ นอกจากนี้ระบบจัดการลิขสิทธิ์ (DRM) ของคนขายแต่ละแห่งที่ทำให้เราอ่าน ebook ได้เฉพาะบนเครื่อง หรือโปรแกรมที่ลงทะเบียนเท่านั้น ทำให้เพียงการ"ฝากคนอื่นซื้อให้"ไม่สามารถทำได้
    โอกาสที่เราจะได้หมายเลขบัตรเครดิตในอเมริกาคงไม่ง่าย แต่ก็มีวิธีอ้อม ๆ เท่าที่นึกออก


    • บริการออกบัตรเดบิตในอเมริกา แล้วให้เราจ่ายเงินจากบัตรเครดิตของเราเข้าไปฝากไว้ก่อน ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เราจะได้ billing address ที่อยู่ในอเมริกามาด้วย ทำให้ตัดปัญหาที่อยู่ในข้อแรกไปได้ (แต่ชั่งใจเรื่องความเสี่ยงกันเอาเอง)
    • ใช้ PayPal สะดวก และเชื่อถือได้ แต่ใช้ได้เฉพาะบางร้านเท่านั้น
    • ฝากซื้อคูปองหรือ gift card ของเวบไซต์นั้น ๆ ที่อาจได้มาจากการฝากซื้อ (บางแห่งก็ตามไปตรวจสอบวิธีการซื้อคูปองอีก เอาเข้าไป) เท่าที่เห็นเวบไซต์ชุมชนนักอ่านบางแห่ง ใช้วิธีโอนเงินทาง PayPal ไปให้คนในพื้นที่ซื้อ แล้วส่งมาให้ (ขึ้นอยู่กับระดับความไว้ใจ) ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เราจะได้เครดิตในการซื้อหนังสือจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องมีบัตรเครดิตของอเมริกา
  3. IP address
    ด่านนี้จะว่าผ่านยากที่สุดก็ได้ และในตอนนี้เวบไซต์คนขายแทบทุกแห่งมีการตรวจสอบ IP address ว่าเราอยู่ที่ไหน วิธีการฝ่าด่านจึงเป็นการให้ได้มาซึ่ง IP address ของอเมริกา และส่งมันไปปรากฏบนระบบตรวจสอบของเวบคนขาย การซื้อบริการ VPN ทางเป็นออกทางหนึ่ง แต่มันก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกหนึ่งทอด!
สรุปว่า การฝ่าด่าน Territorial rights นั้น คือการทำให้คนขายเชื่อว่า เรากำลังอยู่ในพื้นที่ที่เขามีสิทธิ์จะขายให้ (ผิดศีลข้อ 4 ตลอดกระบวนการ) แต่ก็ตามมาด้วยความยุ่งยากอีกหลายขั้นตอน และอาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้จุดเด่นทางด้านราคาของ ebook หายไป

จากผลกระทบของกำแพงที่สร้างโดยคนขายนี้ ทำให้คนจำนวนหนึ่ง ที่อุตส่าห์ลงทุนซื้อเครื่องอ่านราคาแพง โดยหวังว่าต้นทุนของการซื้อหนังสือจะถูกลงในระยะยาว เสนอวิธีที่ง่าย และเร็วกว่า นั่นก็คือ "ลืมการซื้อไปซะ" แล้วไปหาจากแหล่งอื่นเอา (ผิดศีลข้อ 2) ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ ebook ที่ต้องการภายในเวลาไม่ถึง 10 นาที แต่ด้วยวิธีนี้ทางฝั่งคนเขียนหนังสือ และสำนักพิมพ์จะกลายเป็นคนเสียประโยชน์เต็ม ๆ

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า คนที่สามารถซื้อเครื่อง ereader มาใช้ได้ เต็มใจที่จะซื้อ ebook อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมันเป็นการสนับสนุนให้คนเขียน และสำนักพิมพ์ออกหนังสือดี ๆ ออกมาให้เราได้อ่านอีก แต่นั่นก็ตั้งอยู่บนข้อแม้ที่ว่าระบบการขาย ebook ควรเข้าถึงง่ายกว่านี้

สรุปง่าย ๆ ก็คือ คนซื้อพร้อมแล้ว แต่คนขายยังไม่พร้อม คงต้องดูการต่อไปว่าคนขายจะปรับตัวกับเรื่องนี้ได้ยังไงบ้าง

Sunday, September 05, 2010

ว่าด้วยการซื้อ eBook (1): กำแพงภูมิศาสตร์

ในโลกยุคก่อนหน้า ebook การขายหนังสือทั่วโลก เป็นไปตามกติกาการจัดจำหน่ายหนังสือแบบเป็นเล่ม ที่มีการตัดแบ่ง "สิทธิ์ในการพิมพ์และจำหน่าย" ออกเป็นส่วน ๆ ตามภูมิภาคต่าง ๆ บนแผนที่โลก (Territorial rights) โดยสำนักพิมพ์ที่เป็นต้นน้ำจะเป็นผู้มอบสิทธิ์นี้ให้กับสำนักพิมพ์รายย่อย ทำหน้าที่พิมพ์ และขายเฉพาะในภูมิภาคนั้น


เมื่อการขายหนังสืออิเล็คทรอนิคส์ หรือ ebook โดยใช้อินเตอร์เนตเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ ebook ก็เริ่มเป็นที่นิยมโดยไม่ยาก เพราะมีข้อดีคือ คนอ่านสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว จ่ายเงินซื้อแล้วอ่านได้ทันที โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกไปไหน ไม่มีอุปสรรคทางด้านภูมิศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง คนอ่านสามารถเริ่มอ่านได้พร้อม ๆ กับคนในประเทศที่มีการเปิดตัวหนังสือ (นึกภาพคนต่อคิวหน้าร้านหนังสือ เพื่อซื้อ Harry Potter เล่มล่าสุดในวันแรกของการจำหน่าย) ขอให้มีแค่อินเตอร์เนตที่ใช้งานได้ ก็สามารถซื้อและดาวน์โหลดมาอ่านได้ทันที ไม่ต้องรอไปรษณีย์ส่งมาเป็นเล่ม

ความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดก็คือ

ในทางทฤษฎี: ebook ทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง ความจำเป็นของตัวแทนจำหน่ายในระดับภูมิภาคลดลง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติคือ ตัวแทนระดับภูมิภาคพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยการ"ห้ามขาย ebook" ในภูมิภาคที่ตนเองมีสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนอ่านที่ตั้งใจจะเป็นลูกค้า ebook จึงพบกับข้อความแจ้งว่าไม่สามารถซื้อหนังสือได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในภูมิภาคที่ผู้ขายมีสิทธิ์ขายให้ จากการเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบที่มาของคนซื้อว่ามาจากที่ไหนนั่นเอง

ศึกนี้จึงเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าของตลาดเดิม กับผู้มาใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง น่าสนใจว่าเจ้าของตลาดเดิมจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่พฤติกรรม และความต้องการของคนอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในโลกที่"แบน"ลงได้อย่างไรบ้าง

คราวหน้าจะลองเล่าถึงความเป็นไปได้ในการซื้อ ebook ของคนอ่านนอกภูมิภาคครับ

หมายเหตุ: 
  • ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Territorial rights ที่
  • ภาพจาก http://news.bbc.co.uk