Thursday, July 31, 2008

Specifications v.s. User experience

เมื่อเราเลือกที่จะซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์สักชิ้น สิ่งที่เราจะมองหาสิ่งแรกก็คือ ส่วนประกอบของอุปกรณ์ชิ้นนั้น ๆ เช่น ถ้าหากเราจะซื้อคอมพิวเตอร์สักเครื่อง สิ่งที่จะต้องดูก็เป็น CPU, RAM, Harddisk, graphic card หรือถ้าเป็น PDA สักเครื่องก็คงไม่ต่างกัน ถ้ามองดูเผิน ๆ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สามารถชั่งตวงวัด เปรียบเทียบกับรุ่นอื่นให้มองเห็นภาพได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อจะต้องเปรียบเทียบกับเงินที่เราต้องจ่ายไป

พักหลัง ๆ มานี้ผมเริ่มสงสัยว่า specification นี้เป็นเครื่องรับประกันถึงการใช้งานที่ดีกว่าเสมอไปหรือไม่ Macintosh และ iPod ของ Apple น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะถ้าหากเรานำ spec คอมพิวเตอร์ Macintosh มาเปรียบเทียบกับเครื่อง PC ทั่วไปแล้วเราก็จะพบว่า Macintosh นั้นมีราคาที่แพงกว่า ใน spec ที่เท่ากัน ทำให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งไม่สามารถผ่านกับดักราคาตรงนี้ไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน Macintosh ก็ให้ user experience บางอย่างที่ในหลาย ๆ ครั้งสำคัญกว่า spec ด้วยซ้ำไป

แม้ว่าเราจะพบเห็นคำถามของผู้ใช้ใหม่ในเรื่องของการเลือกซื้ออุปกรณ์เหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ และมักจะได้รับคำถามกลับจากผู้เชี่ยวชาญ ถึงลักษณะการใช้งาน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็จะถูก specification (ซึ่งจะได้รับการบอกเล่าผ่านมาทางคนขาย) ดึงดูดไปในที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งได้มีโอกาสใช้งานจนได้เห็น ข้อดี ข้อเสียของทุกระบบแล้ว ผู้ใช้ส่วนหนึ่งก็จะพบว่าข้อเสียที่ตัวเองพบอยู่ทั้ง virus, trojan ความสวยงาม การตอบโจทย์ของลักษณะการใช้งาน และความติดขัดในการใช้งานนั้นสามารถกำจัดไปได้ โดยการเปลี่ยนมาใช้ Mac!

ในทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นกับการเลือกใช้ smart phone หรือ pda phone ก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็น feature หรือ specification ก็เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ชัดเจนกว่าความสะดวกในการใช้งาน ที่อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ และเวลาในการทดลองใช้หลาย ๆ ระบบจึงจะสามารถเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของระบบปฏิบัติการ แต่ละตระกูลได้ เช่น 1st gen iPhone ที่ไม่สนับสนุนการใช้งาน MMS หรือ 3G ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้งานสำหรับผู้ใช้บางกลุ่ม ในขณะเดียวกัน Windows Mobile ที่เต็มไปด้วย feature มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ multitasking การใช้งาน multimedia และ connectivity สารพัดรูปแบบ แต่ก็ทำให้ผู้ใช้ส่วนหนึ่งต้องถอยกลับ เพราะปัญหาความยุ่งยากในการใช้งาน ความเสถียรของระบบปฏิบัติการ และหันกลับไปหาสิ่งที่ซับซ้อนน้อยกว่า แม้ว่าจะไม่ได้มี feature มากเหมือนกับ Windows Mobile ก็ตาม

พอลองมาดูในภาพที่ใหญ่ขึ้น เราจะพบพฤติกรรมในการใช้งานของคนในแต่ละประเทศต่างกันไปด้วย อย่างเช่น เครื่องที่มีความสามารถในการใช้งาน email และ text messaging อย่าง Blackberry กลับไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ในขณะที่ความต้องการของผู้ใช้ในบ้านเรา ให้ความสำคัญกับความสามารถทางด้าน multimedia มาก่อน ดังนั้นโทรศัพท์ที่จะสามารถประสบความสำเร็จก็จะต้องมีความสามารถทางด้านนี้เป็นพื้นฐาน นั่นก็ทำให้ iPhone ที่มี feature ทางด้าน multimedia น่าตื่นตาตื่นใจสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องทำการตลาดแต่อย่างใด

ดังนั้นในความเห็นของผมสิ่งที่จำเป็นในการเลือกซื้อน่าจะเป็น ประสบการณ์ในการใช้งานที่ผ่านมา และการเรียงลำดับประสบการณ์การใช้งานที่ต้องการ มากกว่าการมองหาการรวมกันของ spec ที่สูงที่สุดหรือ มี feature ที่มากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของเราได้เสมอไปก็เป็นได้

No comments: